จดหมายเหตุ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
คลิกชมวีดิโอ https://www.facebook.com/kmitlofficial/videos/1002215550848838
ชื่อของ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ประกอบด้วยคำสำคัญ 3 คำ ได้แก่ คำว่า พระจอมเกล้า เจ้าคุณทหาร และ ลาดกระบัง
พระจอมเกล้า คือ พระนามของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร(สี-สิน)มหามงกุฎ
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี
เจ้าคุณทหาร คือ นามของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ วร บุนนาค (วอน บุนนาค)
ลาดกระบัง หมายถึง สถานที่ตั้งของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แผ่นดินที่สี่ แห่งจักรีวงศ์ ปัญญาอันมั่นคง ธำรงเอกราช
ประกาศความเป็นชาติอารายะ พระบารมีกล้าแกร่ง ดับแสงสุริยา
เจ้าคุณทหาร
ขุนนาง ผู้ภักดี
เสนาบดี ผู้ยิ่งใหญ่
ราชทูต ผู้เกรียงไกร
ฝากผลงานไว้ ให้แผ่นดิน
ลาดกระบัง
ปณิธาน อันสูงค่า
จากผืนนา สู่สถานศึกษา
ร่วมกายร่วมใจ พัฒนา
พระเมตตาจารึกไว้ ในใจเรา
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
มหามงกุฎ ดุจชีวันอันล้ำค่า
ซื่อสัตย์ ต่อหน้าที่อันยิ่งใหญ่
ใฝ่รู้ ปัญญาอันเกรียงไกร
สู้งาน อุทิศกายใจให้แผ่นดิน
พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่มีพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกล ทรงเล็งเห็นว่า การศึกษาสมัยใหม่
เป็นสิ่งจำเป็น ในการปรับปรุงบ้านเมือง ให้เจริญก้าวหน้า มีเอกราช และความอารยะ
และทำให้ประเทศเป็นที่ยอมรับ ของนานาประเทศ
ทรงเป็น "องค์วิชาการ" ที่ใฝ่พระทัยศึกษาด้วยพระองค์เอง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญาศาสนาต่างๆ ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ และดาราศาสตร์
พระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน ดั่งแสดงในภาพ ณ เพดานโดมด้านทิศตะวันตก
ของพระที่นั่งอนันตสมาคม
เป็นภาพเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับเบื้องหน้าพระพุทธชินสีห์ แวดล้อมด้วยเหล่าพระภิกษุ และนักบวชต่างชาติ ในศาสนนิกายต่าง ๆ
ทั้งยังแวดล้อมด้วยเหล่านักปราชญ์ราชบัณฑิต ที่ต่างมาเข้าเฝ้ารับเสด็จ โดยถือคัมภีร์และตำรา
ในสรรพวิทยาการของโลกตะวันตก และโลกตะวันออก
แสดงนัยแห่งพระราชจรรยาและพระราชจริยวัตรอันมุ่งมั่น ที่ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของทุกศาสนา
โดยไม่รังเกียจกีดกันและทรงเป็นนักปราชญ์ผู้ใส่พระทัย ใฝ่รู้ในศิลปะวิทยาการ
จากทั่วทุกแหล่งความรู้ทั่วโลก
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพ ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ในรัชสมัยของ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
ทรงเป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (สม-เด็ด-พระ-สี-สุ-ริ-เยน-ทรา บอ-รม รา-ชิ-นี)
พระองค์ทรงเริ่มศึกษาพระอักษรตั้งแต่ประทับที่พระราชวังเดิม
ในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (ปอ-ระ-มา-นุ-ชิด-ชิ-โน-รด)
และสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม (วัด-โม-ลี-โลก-กะ-ยา-ราม)
เมื่อพระชนมายุย่างเข้า 9 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ประกอบพระราชพิธีลงสรง เฉลิมพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏ (สุ-พัน-นะ-บัด) ว่า
"สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติวงศ์ พงศ์อิศวรกษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร"
ในเบื้องต้นทรงศึกษาสรรพวิชาความรู้ต่างๆตามราชประเพณีสำหรับพระราชกุมาร
เช่น การฝึกหัดอาวุธ และวิชาคชศาสตร์ โดยในเบื้องต้น สมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดให้บัญชาการกรมมหาดเล็ก
วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 เมื่อพระชนมายุครบ 20 พรรษา ได้ทรงผนวช
ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระฉายาว่า
“วชิรญาโณ “ หลังจากทรงผนวชได้ 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เสด็จสวรรคต
โดยมิได้ทรงมอบราชสมบัติ แก่เจ้านายพระองค์ใด
พระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ประชุมปรึกษากันแล้ว ได้อัญเชิญ
พระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ พระเชษฐาต่างพระมารดา
ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 3 แห่งจักรีวงศ์ ด้วยทรงเจริญพระชนมายุมากกว่าถึง 17 พรรษา
และทรงมีประสบการณ์มาก ทั้งด้านการค้า การสงคราม และการปกครอง
ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ดำรงอยู่ในสมณเพศ แห่งพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ
อยู่ตลอดรัชกาลที่ 3 เป็นเวลา 27 ปี ตราบจนปี พ.ศ. 2394
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี
และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้เข้ากราบถวายบังคมทูล อัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ
สืบพระราชสันตติวงศ์เป็น รัชกาลที่ 4 แห่งจักรีวงศ์ โดยมีพระราชปรมาภิไธยโดยย่อว่า
"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรามหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"
ณ ช่วงเวลาตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ท่าน โลกกำลังเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ
ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม การค้นพบและเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อีกทั้ง ยังมีการรุกรานแย่งชิงดินแดนและทรัพยากรธรรมชาติ มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในทั่วทุกภูมิภาคของโลก รวมทั้ง มีการมุ่งขยายอิทธิพลของชาติตะวันตกสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้พระองค์ท่านทรงตระหนัก ถึงความจำเป็นในการรักษาเอกราช
ของสยามประเทศ ณ ช่วงระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ให้ได้
ตลอดระยะเวลาที่ทรงผนวช จนเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการคบค้าสมาคม
กับชาวตะวันตกและการเรียนภาษาต่างประเทศ จึงทรงศึกษาภาษาละติน กับสังฆราชปาลเลอกัวซ์
และภาษาอังกฤษจากหมอสอนศาสนา ดร. แดนบีช บรัดเลย์ ดร. เรโนลด์ เฮ้าส์
และมิสเตอร์เจสซี่ แคสเวล
รวมทั้งศึกษาสรรพวิทยาการจากพระสหายต่างชาติอย่างต่อเนื่องตลอดพระชนม์ชีพ เป็นผลให้ทรงมีความรู้ในสรรพวิทยาการความก้าวหน้าของตะวันตกหลายแขนง อาทิ วิชาภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์
และดาราศาสตร์
แม้ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงใฝ่พระทัยการศึกษา
วิทยาการสมัยใหม่ของโลกตะวันตกเป็นอย่างยิ่งทั้งด้านภาษาต่างประเทศ ภูมิศาสตร์ แผนที่
เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
แต่ศาสตร์หนึ่ง ที่ทรงสนพระราชหฤทัยศึกษาค้นคว้ามาก คือ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ชั้นสูง
เพราะทรงมีความชำนาญในศาสตร์ด้านโหราศาสตร์ เป็นพื้นฐาน
เช่น การคำนวณวันข้างขึ้นข้างแรมที่ถูกต้อง สำหรับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
อีกทั้ง ทรงกำหนดเวลามาตรฐานสากลสำหรับประเทศสยามขึ้นไว้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้
ในการคำนวณเส้นรุ้ง เส้นแวง เพื่อแสดงถึงพิกัดของอาณาเขตประเทศได้อย่างถูกต้อง
ทรงคำนวณวัน เวลา และสถานที่เกิดสุริยุปราคาล่วงหน้าถึง 2 ปี ว่าจะเกิดสุริยุปราคาหมดทั้งดวง
ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411
ณ เวลา 10 นาฬิกา 36 นาที 20 วินาที ใช้เวลาเต็มดวง 6 นาที 46 วินาที
โดยสามารถเห็นเต็มดวงได้ชัดเจน ณ บริเวณคลองวาน ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โดยการพิสูจน์ผลการศึกษาและคำนวณของพระองค์ท่าน ในครั้งนี้
เป็นที่เลื่องลือในวงการดาราศาสตร์ทั่วโลกตราบจนทุกวันนี้ และได้รับการบันทึก ชื่อของสุริยุปราคาครั้งนี้ ว่า “King of Siam Eclipse” โดยองค์การ NASA ซึ่งนับเป็นประวัติศาสตร์ ที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง
ของสยามประเทศตราบจนทุกวันนี้
เจ้าคุณทหาร
ต้นตระกูลบุนนาค คือ ท่านเฉกอะหมัด ท่านเป็นพ่อค้าชาวเปอร์เซีย ที่มาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา
ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ต่อมาท่านได้รับราชการและได้ดำรรงตำแหน่งสำคัญในเรื่องการค้าทางทะเลและการเมืองการปกครองในเขตหัวเมืองชายทะเลไปราชกาจนถึงภาคใต้และได้บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก อัครเสนาบดี สมัยอยุธยาตอนปลาย
เจ้าพระยาบวรราชนายก เป็นขุนนางคนสำคัญของกรุงศรีอยุธยา ที่คุมกำลังคนและกิจการต่างๆ
ทั้งด้านกลาโหมและกรมท่า มีลูกหลานสืบเชื้อสายกันต่อ ๆ กันมา
โดยหนึ่งในเชื้อสายของท่านเฉกอะหมัด ที่สืบทอด้ชมาจนถึงช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยา
คือ นายบุนนาค ผู้ที่เคยรับราชการและมีความใกล้ชิดกับนายทองด้วง ผู้มีตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี และนายสิน หรือ พระยาตาก ซึ่งต่อมา ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็น
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี
นายบุนนาคได้แต่งงานกับท่านนวล ผู้เป็นน้องสาวของท่านนาค ภริยาของนายทองด้วง
จึงทำให้ทั้งสองตระกูล มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
ต่อมา เมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ นายทองด้วง หรือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ส่วนนายบุนนาค ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็น
เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา สมุหพระกลาโหม ผู้ควบคุมทั้งการค้าทางทะเลและการทหาร
และนับเป็นต้นตระกูลบุนนาค แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
บุตรหลานเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ได้รับราชการสืบทอดมาโดยตลอด
โดยในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ตระกูลบุนนาค มีบทบาทสำคัญที่สุดทางการเมือง
ในการสืบราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ เป็นผู้ขจัดความขัดแย้งในการสืบทอดราชบัลลังก์
ด้วยการเป็นผู้ทูลเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ามหามงกุฎ ซึ่งผนวชเป็นพระสงฆ์ในขณะนั้น ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4
และในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 นี้ บุตรชายทั้งสองคนของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค)
ได้ดำรงตำแหน่งขุนนางที่สูงสุดในแผ่นดิน คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิส บุนนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค)
หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย
ต่อมา ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ต่อถึงรัชกาลที่ 5 บุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ คือ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
นอกจากจะดำรงตำแหน่งขุนนางที่สูงสุดในสยามแล้ว ยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
ในช่วงต้นของรัชกาลที่ 5 ด้วย โดยมีบุตรชายคนโตของท่าน คือ
เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เป็นกำลังสำคัญ ในการบริหารราชการแผ่นดิน
เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) มีนามเดิมว่า วร (วอน)
เป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
กับท่านผู้หญิงกลิ่น ธิดาหลวงแก้วอายัติ (จาด)
ท่านเริ่มรับราชการ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาในรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ
ให้เป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ หัวหมื่นมหาดเล็ก
และได้รับการแต่งตั้ง เป็นอุปทูตติดตามพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) ราชทูต
ออกไปเจริญพระราชไมตรี ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2403
ต่อมา ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ จางวางมหาดเล็ก
และเป็นราชทูตไปฝรั่งเศสอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2409
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ
ให้เลื่อนพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ เป็นเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ที่สมุหพระกลาโหม
ศักดินา 10,000 เมื่อ พ.ศ.2412 ท่านดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหมเป็นเวลา 19 ปี
จนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2431 รวมอายุได้ 60 ปี
บุคคลทั่วไปออกนามเรียกเป็นการสามัญว่า “ท่านเจ้าคุณกลาโหม” หรือ “ท่านเจ้าคุณทหาร”
และชื่อเรียกนี้ กลายมาเป็นชื่อเรียกของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ในปัจจุบัน
เหล่าขุนนางตระกูลบุนนาคเหล่านี้ นับเป็นคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า
ที่พยายามศึกษาเรียนรู้วิชาการทางตะวันตกในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการต่อเรือ
การสร้างถนน การขุดคูคลอง การบริหารจัดการงานโยธาธิการทั้งหลาย
การก่อสร้างสถานที่ทำการรัฐบาล วังและวัด และกิจกรรมทางพาณิชย์ทั้งหลาย
รวมทั้ง ยังศึกษาในเรื่องการเมืองการปกครองแบบตะวันตก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้
ในการบริหารราชการแผ่นดิน ณ ช่วงเวลานั้น
ในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการขุดคูคลองเพิ่มขึ้น
อันเป็นผลที่มาจาก การทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ในรัชกาลที่ 4 ซึ่งทำให้สยามมีการเปิดประเทศ
และเริ่มขายผลิตผลทางการเกษตรสู่โลกตะวันตกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งข้าว อ้อย
และผลผลิตทางการเกษตรแบบต่าง ๆ
โดยการขุดคูคลองทั้งหลายนั้นได้ดำเนินการเพิ่มมากขึ้นสืบเนื่องต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 5
ที่ยังคงมีการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมโดยมีการเพิ่มระบบคูคลองให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
จนทำให้ที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนภาคกลางของประเทศกลายเป็นแหล่งเพาะปลูก
ที่อุดมสมบูรณ์ ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีระบบชลประทาน และการคมนาคมขนส่งทางน้ำ
ที่เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ตราบจนทุกวันนี้
ลาดกระบัง
ด้วยสายตา ที่มองเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาตั้งแต่เมื่อครั้งที่
เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) เดินทางมาควบคุมงาน การขุดคลองประเวศบุรีรมย์
ผ่านท้องที่เขตลาดกระบัง ในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ท่านได้สัมผัสถึงปัญหาในพื้นที่ของชาวบ้าน ที่มารับจ้างขุดคลอง ที่ส่วนใหญ่ เมื่อได้รับค่าจ้างแต่ละวันแล้ว ก็มักจะหมดไปกับการดื่มสุรา
และเล่นการพนัน จนหลายครั้งนำไปสู่การทะเลาะวิวาท และทำร้ายร่างกายกัน
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้เคยปรารภกับคุณหญิงเลี่ยม บุนนาค ธิดาลำดับที่ 12 ของท่านว่า
หนทางเดียวที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ดีขึ้น ก็คือการให้การศึกษาแก่พวกเขา
จวบจนในเวลาต่อมา ท่านเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ได้จับจองที่ดินบริเวณริมคลองประเวศบุรีรมย์ ราว 1,500 ไร่ ตามศักดินาของขุนนางในเวลานั้น โดยมีความตั้งใจ จะใช้ที่ดินดังกล่าว
มาพัฒนาการศึกษาในท้องที่ลาดกระบังให้ดีขึ้น
ในเวลาต่อมา เมื่อท่านเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ถึงแก่อสัญกรรม มรดกในผืนดินแปลงใหญ่นี้
ได้ตกแก่ท่านเลี่ยม บุนนาค
ดังนั้น ท่านเลี่ยม บุนนาค ได้ร่วมกันกับหลวงพรตพิทยพยัต (พรต เดชา) คู่สมรส
นำทุนทรัพย์ส่วนตัว มาร่วมสานต่อเจตนารมณ์ของเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ ที่เคยปรารถนา
จะเปลี่ยนที่ดินผืนดังกล่าวให้กลายเป็นสถานศึกษา
โดยก่อตั้ง “โรงเรียนพรตพิทยพยัต” ขึ้นเป็นอันดับแรก สำหรับนักเรียนประถมถึงชั้นมัธยม
ในปี พ.ศ. 2500 ท่านเลี่ยมได้มอบที่ดินจำนวน 1,041 ไร่ ให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดูแล
โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบที่ดินดังกล่าวให้กรมอาชีวศึกษา ซึ่งในเวลานั้น
ศาสตราจารย์พงศ์ศักดิ์ วรสุนทโรสถ อธิบดีกรมอาชีวศึกษา รับที่ดินเพื่อที่จะนำไปพัฒนา
และจัดตั้งเป็นสถานศึกษาอาชีวะขั้นสูง เพื่อจัดการเรียนการสอน เทียบเท่าระดับปริญญาตรี
โดยย้ายโรงเรียนเกษตรกรรม จังหวัดนครปฐม มาที่ลาดกระบัง
และใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร” ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็น
“วิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร”
ณ ช่วงเวลานั้นได้มีการการดำเนินการก่อตั้ง “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า”ขึ้นในปี พ.ศ. 2514 โดยคณะกรรมการพัฒนาวางแผนและจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยี
มีวัตถุประสงค์ ในการผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
และได้ขอพระราชทานพระนาม “พระจอมเกล้า” เป็นชื่อสถาบัน
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า” และพระราชทานพระบรมราชานุญาต
อัญเชิญตราพระราชลัญจกร “พระมหามงกุฎ” เป็นตราประจำสถาบัน และพระราชทานสีประจำองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสีประจำสถาบัน คือ สีแสด
ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้านี้ ก่อตั้งขึ้น โดยการรวมสถาบันการศึกษา 3 แห่งตามมาตรา 5
โดยเป็นการรวม วิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยโทรคมนาคม และวิทยาลัยเทคนิคธนบุรี
เข้าด้วยกัน
จากนั้น ได้มีการย้ายวิทยาลัยโทรคมนาคม จากนนทบุรี มาอยู่ที่ลาดกระบัง
เพื่อจัดตั้งเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ และย้ายวิทยาลัยก่อสร้างจากบางพลัด
มาจัดตั้งเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เมื่อโอนย้ายทั้งสองสถาบันการศึกษา
มาจัดตั้งเป็นคณะแล้ว จึงได้จัดตั้งเป็น
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นับแต่นั้น
โดยนำคำว่า “เจ้าคุณทหาร” มาใส่ไว้ในชื่อ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์
ในปี พ.ศ. 2522
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พงศ์ศักดิ์ วรสุนทโรสถ ได้ดำเนินการสมทบวิทยาลัยเกษตรกรรมเจ้าคุณทหาร มารวมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
เพื่อจัดตั้งเป็นคณะเทคโนโลยีการเกษตร
ในเวลาต่อมาได้มีการเปิดวิทยาเขตแห่งใหม่ ของสถาบันฯ ที่ อ.ปะทิว จังหวัดชุมพร
โดยเริ่มรับนักศึกษาในปี 2534
วันที่ 18 มีนาคม พศ. 2556
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เชิญพระนาม "ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์"
มาเป็นชื่อของวิทยาเขตว่า "วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร”
โดยพระนาม "ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์" นี้ เป็นการเทิดพระเกียรติ พลเรือเอก
พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
พระบิดาผู้วางรากฐานแห่งทหารเรือไทย อีกทั้งยังทรงมีพรียกิจอื่นๆ
ในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ตลอดพระชนม์ชีพ
พระองค์ท่าน เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค)
สำหรับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นั้น
นับจากวันที่เริ่มก่อตั้งได้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตราบจนปัจจุบันนี้
โดยมีการเปิดการเรียนการสอนเพิ่มมากขึ้นในหลายหลักสูตร
รวมทั้ง มีการก่อสร้าง อาคารสถานที่สาธารณูปโภค และพื้นที่ใช้สอยสำหรับประชาชน
รวมทั้งโรงพยาบาล และสิ่งอื่น ๆ อีกมากมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความเติบโต
และความเจริญก้าวหน้าของสังคม อย่างไม่หยุดยั้ง
จนปัจจุบัน สามารถก้าวสู่ความเป็นมหาวิทยาลัย ที่ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติ
และระดับนานาชาติ ที่สามารถผลิตบัณฑิตในหลากหลายสาชาวิชาชีพ ในทุกระดับปริญญา
ตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม รองรับการพัฒนาของประเทศไทย
และรับใช้สังคมได้ อย่างมีคุณภาพ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๔ ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริง
และประดิษฐานไว้ใน ณ อุทยานพระจอมเกล้า
ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
และเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปัจจุบัน พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๔ แห่งนี้ เป็นศูนย์รวมจิตใจ
และเป็นที่สักการะบูชา ของเหล่าคณาจารย์ ข้าราชการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
ในพื้นที่เขตลาดกระบังตลอดมา
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง”
และพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 4
คือ ตรา “พระมหามงกุฎ” เป็นตราประจำสถาบัน
โดยพระมหามงกุฎ หรือ พระมหาพิชัยมงกุฎนั้น เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์
ซึ่งก็คือ เครื่องราชอิสริยยศ 5 สิ่ง ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย
พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี และฉลองพระบาทเชิงงอน
เป็นเครื่องแสดงถึงพระราชอำนาจสูงสุด กล่าวคือ เป็นเครื่องศิราภรณ์
สำหรับพระมหากษัตริย์ที่เสด็จขึ้นครองราชย์ทรงสวมพระเศียร ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น
เมื่อเจ้าพนักงานทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาพิชัยมงกุฎแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงยกขึ้นสวมพระเศียร
ด้วยพระองค์เอง อันเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลจากราชสํานักยุโรป ซึ่งถือคติว่า
พระมหากษัตริย์ จะทรงดํารงสภาวะอันสมบูรณ์สูงสุด ก็ต่อเมื่อได้ทรงสวมมงกุฎแล้ว
และยังสะท้อน ถึงนัยยะว่า การเป็นพระมหากษัตริย์นั้น จำเป็นต้องระลึก และตระหนักอยู่เสมอว่า
ทรงมีหน้าที่ความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงต่อแผ่นดิน ประเทศชาติ และประชาชนตลอดไป
ไม่มีวันสิ้นสุด เหมือนดั่งที่ต้องทรงต้องแบกรับ การสวมพระมหามงกุฎ ไว้บนพระเศียรตลอดเวลา
สำหรับตราประจำสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ซึ่งใช้พระราชลัญจกรประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 4 เป็นตราประจำสถาบัน นั้น
ถือว่า เป็นตราสัญลักษณ์ที่เป็นมงคล และสูงค่ายิ่งนัก
เพราะพระราชลัญจกร หมายถึงตราที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใช้ประทับ กำกับพระปรมาภิไธย
และประทับกำกับเอกสารสำคัญ ที่ออกในพระปรมาภิไธย เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงพระราชอำนาจ
และเป็นเครื่องมงคลประจำรัชกาล ซึ่งจะต้องอัญเชิญขึ้นถวายพระเจ้าแผ่นดิน
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพร้อมกับเครื่องมงคลอื่น ๆ
ดังนั้น การที่สถาบันสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อัญเชิญตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 4
คือ ตรา “พระมหามงกุฎ” ให้เป็นตราประจำสถาบัน และนำไปใช้ได้เป็นเครื่องหมายบนเครื่องแบบ
เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เอกสาร หรือ สิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ฯ
จึงได้ถือว่า เป็นตราประจำสถาบัน ที่เป็นมงคลและสูงค่ายิ่งนัก
นับตั้งแต่ การก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตราบจนทุกวันนี้
สถาบันฯ มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดหลักสูตรในหลายระดับ และหลายองค์ความรู้
เพื่อรองรับต่อการใฝ่รู้ของนักศึกษา ที่จะต้องก้าวตามให้ทันกับความเปลี่ยนไป ของสังคมโลก
ที่มีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
และมีปรัชญาการดำเนินงาน ที่ชัดเจนว่า
การศึกษา วิจัย ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรากฐานที่ดีของการพัฒนาประเทศ
โดยมีปณิธาน มุ่งมั่นให้การศึกษาและวิจัยเพื่อผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้
ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่จริยธรรม และรักษาไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอันดีของประเทศ
และมีวิสัยทัศน์ ที่แน่วแน่ ที่จะมุ่งพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่สังคมโลก
สมดังพระราชปณิธาน ขององค์พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ และพระมหากษัตริย์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
แห่งยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่มีพระราชหัตถเลขา ไว้ว่า
“ ... อาวุธชนิดเดียว
ที่จะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเราในอนาคต ก็คือ
วาจาและหัวใจ อันกอปรด้วยสติและปัญญา ... ”