Skip to main content

ทิศทาง สจล. ปี’68 เซมิคอนดักเตอร์-เอไอ มาแรง

KMITL

 

 

          สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ก้าวขึ้นเป็นอันดับที่ 4 จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยรัฐยอดนิยม 2567 โดย Thailand’s Top Universities เลื่อนขึ้นมา 3 อันดับจากปี 2566 โดยในปี 2568 นี้ สจล.มียอดผู้สมัคร TCAS รวมกว่า 3.3 หมื่นคน แบ่งเป็น TCAS1 จำนวน 24,326 คน และ TCAS2 จำนวน 9,370

          “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนคุยกับ “อาจารย์เดี่ยว” รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. ถึงแนวคิดและปัจจัยหลักที่ทำให้มหาวิทยาลัยก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับต้น ๆ รวมถึงทิศทางการสร้างสถาบันการศึกษาอย่างไรให้แข็งแกร่ง-ยั่งยืน ในยุค AI

 

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล.

 

          อาจารย์เดี่ยวเล่าว่า ในปี 2568 สจล.ให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรที่สามารถทำงานได้ทุกที่บนโลก เน้นปลูกฝังเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรม และความยั่งยืน ปูพื้นฐานการศึกษาที่เข้มแข็งรองรับอนาคตของโลกดิจิทัล รวมถึงปูพื้นฐานการเรียน-การสอน ด้านแนวโน้มนวัตกรรม และเทคโนโลยี เสริมสร้างประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิต ผ่านการเชื่อมโยงเทคโนโลยีที่หลากหลาย

          การพัฒนาเทคโนโลยีด้านสุขภาพอัจฉริยะ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระบบสาธารณสุข และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและจริยธรรม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบการศึกษาเชิงนวัตกรรม ที่สามารถรองรับความท้าทายใหม่ ๆ ในโลกดิจิทัล

          การจะบริหารองค์กรให้เกิดความความยั่งยืน ได้ยึดหลักนโยบาย 5 Global Indexes ได้แก่ Global Citizen, Global Innovation, Global Learning, Global Infrastructure และ Global Management โดยเน้นการศึกษาเชิงปฏิบัติ การพัฒนานวัตกรรม และเชื่อมโยงสู่เวทีนานาชาติ

AI เรื่องใหญ่ ไม่ใช่แค่เทรนด์
          เมื่อถามถึงเทรนด์ AI อาจารย์เดี่ยวให้คำตอบว่า พื้นฐานของคนไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้เหมือน AI หน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือการนำองค์ความรู้มาโต้เถียง สร้างโมเดลให้เห็นภาพจริง หรือประยุกต์เพื่อใช้ในเรื่องใหม่ ๆ

          “AI ไม่ใช่เทรนด์ แต่คือความจำเป็น เทคโนโลยีที่มันเกิดความขับเคลื่อน ดังนั้นทุกคนจึงต้องมีการเรียนรู้และพัฒนา เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกในส่วนนี้อีกมาก”

ในส่วนของหลักสูตร เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดแบบค่อย ๆ สอดแทรกเข้าไปในรายวิชาศึกษาทั่วไป โดยใช้ระยะเวลาราว ๆ 3 เดือน เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

          เมื่อเจเนอเรชั่นเปลี่ยน แกปจึงเปลี่ยนตาม สจล.ได้มีการสังเคราะห์มาแล้วว่าควรเรียนรู้องค์ความรู้ใดบ้าง อย่างเรื่อง AI, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และโค้ดดิ้ง เป็นเรื่องพื้นฐานตั้งแต่ปี 1 เพื่อใช้ในการทำโปรแกรมเพิ่มเติมจากหลักสูตรที่มีอยู่ และมีการให้ทำโปรเจ็กต์ เน้นเสริมในส่วนของทักษะปฏิบัติ

          ความรู้ทั้งหมดในโลกนี้สามารถรวบรวมได้แล้ว โดยการคีย์ข้อมูลเข้าไปในคอมพิวเตอร์ แต่ความรู้ที่มีอยู่จะสามารถประยุกต์เป็นนวัตกรรมได้หรือไม่ AI ไม่สามารถทำได้ ต้องทำการทดลอง ส่วนนี้เป็นส่วนที่มนุษย์จะต้องเรียนรู้ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด จนได้นวัตกรรมใหม่ ๆ ในที่สุด

“Gen Z ไม่ต้องการเรียนแบบที่นั่งฟังนาน ๆ แต่พวกเขาต้องการการมีส่วนร่วม คิดไว อาจารย์ที่จะสอนจึงต้องเน้นทักษะในการปฏิบัติ สอนในเรื่องที่พวกเขาไม่สามารถค้นหาเองได้บนอินเทอร์เน็ต”

 

 

มุมมองต่อการศึกษาไทย
          ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

          ในส่วนนี้ อาจารย์เดี่ยวกล่าวว่า จากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะยิ่งก้าวหน้าและส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจในระดับโลกอย่างชัดเจน

          ไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต (Future Skills) เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Internet of Things (IOT), วิทยาการข้อมูล (Data Science) และวิศวกรรมชีวภาพ-สุขภาพอัจฉริยะ จะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

          โดยเฉพาะ “เซมิคอนดักเตอร์” และ “AI” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีแห่งอนาคต และการลงทุนใน “อุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์” (PCB) เป็นอีกแนวโน้มสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ที่เริ่มมีการผลิตในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนาทักษะแรงงานและผลิตวิศวกรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกให้ได้

          ทั้งนี้ “หลักสูตรนานาชาติ” เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยหลักสูตรต่าง ๆ ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่นและทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของสาขาวิชาต่าง ๆ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในระดับสากลและฝึกใช้ภาษาอังกฤษจริงในห้องเรียน ช่วยให้ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในโลกการทำงาน ทั้งในด้านวิชาการและทักษะชีวิต

          โดยมีหลักสูตรที่น่าสนใจ ได้แก่ หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) คณะแพทยศาสตร์, หลักสูตร Doctor of Dental Surgery คณะทันตแพทยศาสตร์, หลักสูตร Business Information Technology คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ, หลักสูตร Culinary Science and Foodservice Management คณะอุตสาหกรรมอาหาร, หลักสูตร Industrial and Engineering Chemistry-คณะวิทยาศาสตร์ และหลักสูตร Chemical Engineering (B.Eng. International Program) คณะวิศวกรรมศาสตร์

          ด้าน “สถาบันการศึกษาเฉพาะทาง” อย่างมหาวิทยาลัย CMKL, 42 Bangkok, สถาบันโคเซ็น (KOSEN-KMITL) โดยเฉพาะ โรงเรียนสาธิตนานาชาติพระจอมเกล้า มีแนวโน้มไปในทิศทางบวก โดยทางโรงเรียนตั้งเป้าเพิ่มนักศึกษาต่างชาติ เช่น จีน อินโดนีเซีย และลาว ผลักดันความร่วมมือเพื่อการเรียนรู้เพื่อผลิตบัณฑิต และผู้เชี่ยวชาญเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเฉพาะทาง

 

 

สจล. 2568
          สำหรับสิ่งใหม่ ๆ ใน สจล. เทอม 1 ที่จะเปิดในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ประกอบไปด้วยหลักสูตรใหม่ ผสานความร่วมมือกับภาครัฐ-อุตสาหกรรม-ไต้หวัน ในการขับเคลื่อนหลักสูตร “วิศวะเซมิคอนดักเตอร์ เอ็นจีเนียริ่ง” และ PCB โดย สจล.เป็นหนึ่งในไม่กี่มหาวิทยาลัยที่เริ่มเปิดหลักสูตรนี้ เพื่อสร้างคนรองรับตลาดแรงงานในอนาคต

          และได้ทรานส์ฟอร์มมหาวิทยาลัยใหม่ จากวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง และภาควิชาเทคโนโลยีระบบการผลิต (AMI) เป็นคณะใหม่ “คณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมบูรณาการ” ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนไซเบอร์ซีเคียวริตี้ คอนดักเตอร์ และ PCB ด้วย

          รวมไปถึงเปิด “คณะพยาบาลศาสตร์” เริ่มรับปีนี้ปีแรก เน้นวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อดูแลสังคมผู้สูงวัย โดยใช้เทคโนโลยีสร้างเครื่องมือทางการแพทย์ ต่อยอดไปยัง Care Giver ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

          ท้ายนี้ อาจารย์เดี่ยวยังได้บอกเล่าถึงการวิ่ง 42 กิโลเมตรรอบมหาวิทยาลัยว่า ส่วนตัวเป็นคนชอบวิ่งมาก โดยใช้การวิ่งเป็นการสำรวจพื้นที่และอัพเดตความเป็นไปโดยรอบ หากมาเรียนที่ สจล.จะสามารถพบเจอได้ที่ลานวิ่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ จะจัดงานวิ่งเทรล ณ วิทยาเขตด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ในวันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน 2568 นี้ด้วย

 

ที่มา : ทิศทาง สจล. ปี’68 เซมิคอนดักเตอร์-เอไอ มาแรง

 

 

บทความโดย

จำนวนผู้เข้าชม

Share this page