Skip to main content

เลือกคณะไหนดี ที่ไม่ต้องตื่นมาร้องไห้ตอนตี 2

เลือกคณะไหนดี ที่ไม่ต้องตื่นมาร้องไห้ตอนตี 2

ไม่ใช่ทุกคณะที่มีชื่อเสียงจะเหมาะกับคุณ
ไม่ใช่ทุกคณะที่พ่อแม่เชียร์ จะทำให้คุณมีความสุข

มารู้จักวิธีเลือกคณะที่ “ใช่ทั้งใจ” และ “ไหวทั้งชีวิตจริง”
ผ่านมุมมองและประสบการณ์ตรงจากรุ่นพี่ สจล.

 

หลายคนเรียนไปด้วย เสียใจไปด้วย เพราะตอนเลือกคณะ ดันลืมถามตัวเองว่า…
“เราชอบมันจริงไหม?

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สจล. ชวนรุ่นพี่ ทั้ง 5 คน ได้แก่ พี่ใจ๋ พี่กัน พี่กะละแม พี่จังโก้ และพี่เนกษ์ มาร่วมพูดคุยในรายการ KMITL TALK 3 ชวนมาแชร์ประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ ที่อยู่ในวัยค้นหาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นน้อง ๆ สายวิทย์ สายศิลป์ และสาย Coding พร้อมเทคนิคการเลือกคณะที่ตอบตัวเองให้ได้ว่า “เราชอบอะไร” มากที่สุด

สายวิทย์ที่ค้นพบตัวเองผ่านการช่วยเหลือคนอื่น

คนแรกที่มาร่วมแชร์เรื่องราวกับเราคือ พี่เนกษ์ – นายปารณ สินธพานนท์ นักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ ปี 2 กับเทคนิคการเลือกคณะที่มีการจัดลำดับมาอย่างถี่ถ้วน พี่เนกษ์เป็นคนที่ชอบวิชาในสายวิทย์ และใช้ภาษาอังกฤษคล่องอยู่แล้ว พอได้ไปงาน Open House หลายแห่ง รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรม Workshop ต่าง ๆ
ทำให้พี่เนกษ์ก็เริ่มรู้ว่าตัวเองชอบช่วยเหลือคนอื่น ชอบการลงมือทำ

จากจุดนั้นเอง เขาจึงเริ่มคิดว่า “สายวิทย์สุขภาพ” น่าจะใช่สำหรับตัวเอง และรู้สึกสนใจงานหัตถการ จึงเลือกเดินเส้นทางการเป็น ทันตแพทย์

ส่วนคำถามต่อมาคือ “จะเรียนที่ไหนดี?”

พี่เนกษ์เล่าว่าเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา และใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว พอเห็นว่าที่ สจล. มีหลักสูตรนานาชาติ มีความทันสมัยและสอนด้วยภาษาอังกฤษ จึงตัดสินใจว่า... นี่แหละคือที่ที่ใช่!

 

จากเด็กสายวิทย์ สู่โลกของมีเดียอาร์ตและอิลลัสเตชั่น

“บางที...การดื้อก็ไม่ผิด ถ้าดื้อเพื่อเดินตามทางที่เรารัก”

 

ใครจะไปคิดว่าเด็กสายวิทย์ล้วน ๆ ที่โตมาในครอบครัวที่หมุนรอบสูตรคำนวณ จะกลายมาเป็นนักวาดผู้เล่าเรื่องผ่านลายเส้นได้!

พี่กะละแม – จิตราพร สตาภรณ์ นักศึกษาจากสาขาศิลปกรรม มีเดียอาร์ต และอิลลัสเตชั่นอาร์ต คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สจล. คืออีกหนึ่งตัวอย่างของคนที่ “ไม่ปล่อยให้ความชอบแค่เป็นงานอดิเรก” แต่เลือกต่อยอดมันให้กลายเป็นอนาคตที่ใช่

จากสูตรเคมี…สู่ลายเส้นที่เล่าเรื่องได้

ตอน ม.ปลาย พี่กะละแมอยู่สายวิทย์เต็มตัว แต่สิ่งที่เธอหลงใหลมาตลอดคือ การวาดการ์ตูน เล่าเรื่องผ่านภาพ โดยเฉพาะมังงะญี่ปุ่นที่ทำให้หัวใจเต้นแรงได้ทุกครั้งที่อ่าน

จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้ลองเอาบทเรียนที่ฟังแล้วง่วง มาวาดเล่าให้เป็นเรื่องการ์ตูนให้เพื่อนฟัง “เพื่อนก็มาขอให้วาดอีกเล่าอีก เพราะมันช่วยให้จำได้ง่ายกว่าฟังครู!”

มันเลยกลายเป็นจุดที่เริ่มมองว่า “บางทีความชอบของเรา...อาจเป็นของจริงก็ได้นะ”

เส้นทางศิลปะ = เส้นทางแห่งการดื้อ (อย่างมีเหตุผล)

แน่นอนว่าเส้นทางนี้ไม่ง่าย โดยเฉพาะกับครอบครัวที่ทุกคนจบสายวิทย์หมด การบอกพ่อแม่ว่า “อยากเรียนศิลปะ” ไม่ใช่เรื่องเบา ๆ เลย

แต่พี่กะละแมก็ใช้วิธีที่เรียกว่า "ดื้ออย่างเข้าใจ" เราวาดต่อไปทุกวัน ให้เขาเห็นว่าเราไม่เล่น ๆ แล้วเราก็หาข้อมูลให้เขาเห็นว่าสิ่งนี้มีอาชีพ มีรายได้จริง

สุดท้ายความดื้อที่มีข้อมูล และความสม่ำเสมอในความฝัน ก็ชนะใจครอบครัวได้สำเร็จ และตอนนี้เธอก็กำลังเรียนในคณะที่ทำให้เธอ ได้วาด ได้เล่า และได้เติบโต ไปพร้อมกัน

 

เด็กสายลงมือ ที่ค้นพบอนาคตจากสนามแข่ง

"ความชอบบางทีมันไม่ต้องพูดเยอะ...แค่ได้ลงมือทำ แล้วรู้สึกว่าใช่ ก็พอแล้ว"

เวลาหลายคนค้นหาตัวเอง อาจเริ่มจากคำถาม แต่สำหรับ พี่จังโก้ – ชวิศ สมัครการ เขารู้ตัวได้จาก "ความรู้สึกตอนลงมือทำจริง"

จุดเริ่มต้นที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่น ๆ … แต่มันคือความฝัน

พี่จังโก้เล่าว่า ตอน ม.ปลาย เขามีโอกาสได้เข้าร่วมการแข่งขันเกี่ยวกับหุ่นยนต์ ไม่ใช่แค่สนุก แต่เขารู้สึกว่า "นี่แหละคือสิ่งที่เราอินสุด ๆ" ได้ออกแบบจริง ประกอบจริง ลองผิดลองถูกจริง มันมีพลังบางอย่างที่แค่การอ่านหนังสือให้ไม่ได้

แล้วจะหาที่เรียนแบบนี้จากที่ไหนล่ะ?

จากจุดนั้นเอง พี่จังโก้เริ่มมองหาคณะที่ เน้นการลงมือปฏิบัติ และมีเครื่องมือพร้อมให้ลองจริง จนมาเจอกับ คณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ ที่ สจล. ที่นี่ไม่ได้มีแค่ห้องเรียน แต่มีอุปกรณ์ มีโปรเจกต์ มีสิ่งแวดล้อมที่ กระตุ้นให้เราคิดและลงมือสร้างสิ่งใหม่

“ผมว่าคนเราจะรู้ว่าชอบอะไรหรือไม่ ต้องได้ลองจริง

ที่นี่ให้ผมได้ลอง ได้ล้ม แล้วก็ได้ลุกในแบบที่เราอยากเป็น”

จากเด็กที่รู้ว่า ‘ชอบวิศวะ’ แต่ไม่รู้จะเลือกอะไร

“บางทีเราไม่ได้ต้องรู้ทุกคำตอบตั้งแต่แรก...แค่กล้าลอง ก็อาจเจอคำตอบในจังหวะที่ไม่คาดคิด” พี่ใจ๋ – กนกพล สิมธาราแก้ว คืออีกหนึ่งตัวแทนของเด็กสายวิทย์ ที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรในแบบวิศวกรรม แต่ก็ยังสับสน เพราะโลกของวิศวะมันกว้างเหลือเกิน!

รู้ตัวว่าชอบสายวิศวกรรม สายลงมือ แต่สาขามันมีเยอะไปหมดเลย!

หลังจากรู้ว่าตัวเองสนใจงานแนววิศวกรรมและชอบ “ลงมือทำจริง” พี่ใจ๋ก็เริ่มหาข้อมูล แต่คณะวิศวะก็มีอยู่หลายที่เหลือเกิน ก็เกิดคำถามใหม่ว่า... แล้วที่ไหนดี? คณะไหนใช่? ต้องเลือกยังไง?

พี่ใจ๋เริ่มออกลุยงาน Open House แหล่งข้อมูลของคนงง พี่ใจ๋มีโอกาสได้ไปงาน Open House หลายแห่ง รวมถึงของ สจล. ด้วย พอลองมาเห้นสถานที่เรียนจริง ๆ ที่นี่ไม่ใช่แค่มีคณะที่สนใจ แต่บรรยากาศ ไลฟ์สไตล์ ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ทุกอย่างมัน “ใช่!” แต่ปัญหาก็ยังอยู่ เพราะวิศวะมีหลายสาขามาก จะเลือกสาขาอะไรดีล่ะ?

โชคดีที่พี่ ๆ สจล. ชวนไปเข้าค่ายวิศวกรรมต่าง ๆ พอได้ลองไปค่ายจริง ๆ มันได้รู้ว่า แต่ละสาขาเขาทำอะไรกันแน่ แล้วเราได้จับ ได้ลอง ได้คุยกับคนที่ทำจริง จนสุดท้าย พี่ใจ๋ก็ค้นพบว่า ตัวเองชอบสายลุย ๆ สร้างของจริงในโลกจริง ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียน วิศวกรรมโยธา ที่ได้ลงพื้นที่ สร้างตึก สร้างสะพาน ไม่ใช่แค่นั่งหน้าคอม

 

อาชีพทางวิศวะโยธา สู่เส้นทางใหม่ในโลกโปรแกรมมิ่ง

“บางครั้งจุดเปลี่ยนก็ไม่ใช่ความฝัน...แต่มาจากความจริงที่เราเผชิญ”

พี่กัน – กัลยกร วังทิพย์รักษ์ จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมโยธา และทำงานในสายนี้มาตลอด
แต่แล้ววันหนึ่ง "โควิด-19" ก็เข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง...

ช่วงเวลาที่อาชีพหลายอย่างเริ่มสั่นคลอน

ช่วงโควิดคือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ หลายอาชีพชะงัก บางสายงานหยุดชะงักไปหมด แต่มีกลุ่มหนึ่งที่ยังคงไปได้สวย คือ คนที่ทำโปรแกรมมิ่ง ตอนนั้นมันทำให้พี่กันเห็นว่าบางทักษะสามารถไปต่อได้ในทุกสถานการณ์ และนั่นคือครั้งแรกที่พี่กันเริ่ม หันมาสนใจ Coding ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ไม่เคยคิดจะจับมันเลยด้วยซ้ำ!

พี่กันเริ่มหาข้อมูล และได้รู้จักกับ 42 Bangkok โรงเรียนสอนเขียนโค้ดแบบใหม่ ที่ไม่มีครู ไม่มีค่าเรียน และไม่มีพื้นฐานก็มาได้

คำว่า ‘เรียนฟรี’ ทำให้พี่กันหยุดฟัง แล้วคำว่า ‘ใคร ๆ ก็เรียนได้’ ทำให้เราลอง

จากวิศวะโยธาที่คุ้นชินกับไซต์งาน พี่กันก็ก้าวเข้าสู่โลกที่เต็มไปด้วยบรรทัดโค้ด และพบว่า ความคิดเชิงตรรกะของวิศวกร ก็ช่วยได้มากในการเขียนโปรแกรม

สุดท้ายแล้ว...ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแบบไหน จะรู้ตัวเร็ว หรือยังค้นหาตัวเองไม่เจอ จะดื้อกับครอบครัวเพื่อไปตามฝัน หรือเปลี่ยนใจในวันที่ชีวิตเปลี่ยน ทุกเส้นทางล้วนมีค่า

สิ่งสำคัญคือ...อย่าหยุดฟังเสียงหัวใจตัวเอง เพราะเส้นทางการเรียน ไม่ใช่แค่เรื่องอนาคต แต่มันคือส่วนหนึ่งของความสุขในทุก ๆ วันของชีวิต

ย้อนฟังเรื่องเล่าสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนฉบับเต็มจากรายการ KMITL TALK #3 "Get Ready to Enjoy Your Dream" ได้ที่ : https://www.facebook.com/share/r/16PaWom1Zr/

บทความโดย

จำนวนผู้เข้าชม

Share this page